วันพฤหัสบดีที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2556

อ้วน ! ระวัง ไขมันคั่งในตับ โรคเงียบอันตรายถึงชีวิต

โรคของคนอ้วน ส่วนมากเราจะรู้จักกันแต่โรคเบาหวาน หัวใจ หลอดเลือด และความดันโลหิตสูง ขณะที่หลายคนคงยังไม่ทราบว่า คนที่มีลักษณะ อ้วนลงพุง ยังก่อให้เกิด “ภาวะไขมันคั่งในตับ” ได้โดยที่โรคนี้จะไม่แสดงอาการเตือนใด ๆ จนกระทั่งตับอักเสบและดำเนินโรคไปสู่ระยะตับแข็ง ตับวาย มะเร็งตับและเสียชีวิตในที่สุด

พญ.พนิดา ทองอุทัยศรี อายุรแพทย์โรคระบบทางเดินอาหารและตับ โรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท ให้ความรู้ว่า ตับเป็นอวัยวะที่สำคัญมาก อวัยวะหนึ่งของร่างกายมีหน้าที่เป็นแหล่งสะสมพลังงาน กำจัดสารพิษ ช่วยสร้างน้ำดีและโปรตีนที่สำคัญ ๆ ของร่างกาย ช่วยย่อยไขมัน โดยธรรมชาติตับของเราจะมีสีน้ำตาลแดง หากตับมีภาวะความเสี่ยงที่มีไขมันสะสมจะเริ่มกลายเป็นสีขาว เนื่องจากมีไขมันคั่งอยู่ในตับ!

ชนิดของโรคไขมันสะสม ในตับแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ ผู้ที่มีไขมันพอกตับโดยไม่มีสาเหตุหรือที่เกี่ยวข้องกับภาวะที่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด (Metabolic Syndrome) หรือมีภาวะดื้อต่ออินซูลิน ได้แก่ โรคอ้วน เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง เราเรียกไขมันสะสมในตับกลุ่มนี้ว่า “ไขมันคั่งในตับ” (Nonalco holic Fatty Liver Disease หรือ NAFLD) ส่วนกลุ่มที่สอง พวกที่มีสาเหตุหรือกลุ่มไขมันสะสมในตับจากสาเหตุ ต่าง ๆ ที่พบบ่อยคือ การดื่มสุรา รับประทานยา เช่น สเตียรอยด์, Amiodarone, Tamoxifen ฯลฯ ไวรัสตับอักเสบบีและซี โรคภูมิแพ้ การให้สารอาหารทางหลอดเลือด ภาวะที่ลดน้ำหนักอย่างรวดเร็ว ทางพันธุกรรมบางอย่างและการรับประทานอาหารที่มีน้ำตาลและไขมันมาก ๆ

ผู้ที่มีความเสี่ยงเป็นไขมันคั่งในตับมักอยู่ในกลุ่มแรกมีเกณฑ์การวินิจฉัยคือ ต้องมีความผิดปกติอย่างน้อย 3 ใน 5 ข้อดังต่อไปนี้ ได้แก่ 1.อ้วนลงพุง 2.ระดับไขมันไตรกลี เซอไรด์ในเลือดมากกว่า 150 มก./ดล. 3.ระดับไขมันเอช-ดี-แอล (HDL) คอเลสเตอรอล ในผู้ชายน้อยกว่า 40 มก./ดล. และผู้หญิงน้อยกว่า 50 มก./ดล. 4.ความดันโลหิตมากกว่า 130/85 มม.ปรอท หรือทานยาลดความดันโลหิตอยู่และ 5.ระดับน้ำตาล ขณะอดอาหารมากกว่า 110 มก./ดล

อย่างไรก็ตามไขมันเกิดจากแหล่งสะสมทั่วร่างกาย 3 แหล่งใหญ่ ๆ ได้แก่ ไขมันใต้ผิวหนัง เช่นที่ตะโพก ต้นแขน และต้นขา ไขมันที่ล่องลอยอยู่ในหลอดเลือด ถ้ามีมากทำให้เกิดโรคไขมันในหลอดเลือดสูงและ โรคเมตาบอลิกอื่น ๆ และไขมันอยู่ในท้อง หรือเรียกว่า “โอเมนตัม” เป็นไขมันที่อันตรายมากกว่าไขมันที่อยู่ตามชั้นผิวหนังเพราะทำให้เกิดภาวะดื้อต่ออินซูลิน ซึ่งอินซูลินเป็นฮอร์โมนชนิดหนึ่งที่ตับอ่อนของเราสร้างออกมาเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในร่างกาย และควบคุมการเผาผลาญพลังงานหรือไขมันในร่างกาย คนที่มีภาวะดื้อต่ออินซูลิน คือมีฮอร์โมน อินซูลินออกมา แต่ร่างกายไม่ตอบสนอง ดังนั้นคนที่อ้วนลงพุงหรือมีไขมันสะสมที่หน้าท้อง มาก ๆ จะปล่อยสารบางอย่าง ออกมาทำให้ฮอร์โมนอินซูลิน ไม่ทำงานจึงมีความเสี่ยงเป็นเบาหวานมากกว่าคนอื่น

โดยปกติร่างกายเผาผลาญไขมันต่าง ๆ จากเนื้อเยื่อนอกตับสามารถผ่านเข้าไปในตับได้แต่ตับก็มีขบวนการป้องกัน ไม่ให้ไขมันสะสมแต่ต้องอาศัยฮอร์โมนอินซูลิน เมื่อไขมันเข้าไปเนื้อตับ บางส่วนตับจะส่งไขมันตัวนี้เข้าไปสลายให้เป็นพลังงานให้เราสามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ และไขมันส่วนที่เกินตับจะขับออกสู่กระแสเลือดได้ แต่ถ้าเมื่อใดมีภาวะดื้ออินซูลินขึ้นมาทำให้เนื้อเยื่อต่าง ๆ มีการสลายไขมันออกมามากขึ้น เมื่อไขมันในเลือดมีมากก็เข้าสู่ตับมากขึ้น ในระยะแรกคนไข้อาจจะไม่มีอาการใด ๆ แต่บางรายอาจมีอาการปวดแน่นชายโครงด้านขวาหรืออาจตรวจอัลตราซาวด์เจอว่าตับขาวผิดปกติ และตรวจเลือดก็อาจจะปกติ ทางการแพทย์เรียกว่า ไขมันสะสมอยู่เฉย ๆ แต่เวลาผ่านไปถ้าไขมันสะสมมากขึ้นเรื่อย ๆ ตับจะมีการอักเสบขึ้นมา เพราะว่าไขมันตัวนี้จะปล่อยสารบางอย่างทำให้เกิดการอักเสบของตับ เมื่อเวลานานเข้าจะดำเนินโรคไปสู่โรคตับแข็งโดยที่เราไม่ต้องดื่มเหล้า หรือไม่ได้เป็นไวรัสตับ

ส่วนใหญ่ถ้ามีไขมันพอกที่ตับอย่างเดียวอาการจะคงที่ แต่ส่วนที่ยังคุมเบาหวานไม่ได้ ยังอ้วนอยู่หรือยังไม่ออกกำลังกาย และทานพวกอาหารหวานหรืออาหารมันอยู่ ก็จะเข้าสู่ระยะการอักเสบของตับ ซึ่งระยะนี้ถ้าเราไหวตัวทันประมาณ 65-75 เปอร์เซ็นต์จะรักษาได้ทันและอาจจะดีขึ้น แต่ถ้าไหวตัวไม่ทันประมาณ 9-20 เปอร์เซ็นต์ จะมีการดำเนินโรคไปเป็นตับแข็ง ทั้งนี้เมื่อเข้าสู่ระยะตับแข็งประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ อาจจะทำให้เกิดมะเร็งตับตามมาด้วย

พญ.พนิดา แนะนำถึงวิธีการรักษาและการป้องกันว่า ควรทำควบคู่ไปด้วยกัน การรักษา และการป้องกันวิธีที่ 1 คือ การควบคุมอาหาร วิธีที่ 2 คนที่เป็นโรคอ้วนหรือน้ำหนักเกิน ถ้าเราสามารถลดน้ำหนักได้ ก็จะดีขึ้นโดยการลดน้ำหนักที่ดีที่สุดคือ การคุมอาหารและการออกกำลังกาย แนะนำว่าให้ออกกำลังกายประมาณ 20-30 นาทีต่อวัน หรืออาทิตย์หนึ่งอย่างน้อยประมาณ 3-5 วันจะช่วยได้มาก

ในรายที่อ้วนหรือน้ำหนักเกินซึ่งคนที่อ้วนคือผู้ชายที่มีเส้นรอบเอวมากกว่า 36 นิ้วขึ้นไป ส่วนผู้หญิงมากกว่า 32 นิ้วขึ้นไป คนกลุ่มนี้นอกจากจะควบคุมปริมาณอาหารไม่ให้มากเกินไปและยังมีข้อจำกัดอีกว่าไม่ควรลดน้ำหนักเร็วเกินไป เพราะจะเป็นการสลายไขมันข้างนอกที่เร็วเกินไปอาจจะทำให้ไขมันข้างนอกยิ่งพลูเข้าตับมากขึ้น อาจทำให้เสียชีวิตได้ จึงควรลดไม่เกิน 1-2 กก. ต่อเดือน ทั้งนี้การกินอาหารที่ดีที่สุดคือรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ด้านกรรมวิธีการทำก็ไม่ควรผัดหรือทอดบ่อยเกินไปหันไปใช้วิธีต้ม แกง ปิ้ง นึ่ง ย่างแทน

ส่วนใครที่ยังไม่อ้วนอย่าเพิ่งชะล่าใจ เพราะการรับประทานอาหารที่ไม่ถูกต้อง เช่น ทานอาหารที่มีไขมัน แป้งหรือน้ำตาลมากเกินไป หรือการดำเนินชีวิตประจำวันแบบไม่ออกกำลังกายเลย ทราบหรือไม่ว่าคุณกำลังอยู่ในภาวะเสี่ยงเป็นไขมันคั่งในตับได้เช่นกัน.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น