วันพฤหัสบดีที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2556

SIDS คืออะไร ?

SIDS ย่อมาจาก Sudden Infant Death Syndrome เป็นอาการหมดลมหายใจอย่างเฉียบพลันโดยไม่ทราบสาเหตุ คำภาษาอังกฤษที่ชาวบ้านมักจะคุ้นหูมากกว่าคงจะเป็นคำว่า Cot Death ซึ่งมีที่มาจากการที่พ่อแม่มักจะเอาลูกวัยทารกที่แข็งแรงดีมาตลอด กินนมปกติ นอนไว้ในเตียงเด็ก (Cot) แล้วอยู่ๆก็เกิดเสียชีวิตกะทันหันโดยไม่รู้สาเหตุ ไปพบอีกทีพบว่าลูกเสียชีวิตขณะนอนหลับไปเสียแล้ว ด้วยเหตุนี้จึงเป็นที่มาของชื่อโรคไหลตายหรือโรค Cot Death ที่เราอาจจะคุ้นหูขึ้นมามากหน่อย ภาวะนี้มักเกิดกับเด็กเล็กที่มีอายุน้อยกว่า 1 ปี อายุเฉลี่ยที่พบบ่อยที่สุด คือ ช่วงอายุ 2-3 เดือน

ในอเมริกาภาวะนี้พบประมาณ 1.5 คน ต่อเด็ก 1000 คน ในเมืองไทยพบอุบัติการณ์ของภาวะภาวะนี้น้อยกว่า แต่มากน้อยเท่าไหร่ ไม่ทราบแน่เพราะไม่มีเก็บสถิติรายงานไว้ แต่คาดว่าน่าจะพบได้น้อยกว่า เนื่องจากสภาพสิ่งแวดล้อมและพันธุกรรมที่แตกต่างกัน

SIDS เกิดจากอะไร ?

มีการศึกษาชิ้นหนึ่งอธิบายว่า ภาวะไหลตายในเด็กอาจเกิดขึ้นจากการที่ระบบควบคุมการหายใจ ของเด็กทารกทำงานผิดปกติ ทำให้ลูกหยุดหายใจนานผิดปกติ หรือบางครั้งอาจมีอะไรมาอุดตันทางเดินหายใจของลูก ทำให้ลูกหายใจไม่ออกและไหลตายในที่สุด

แม้ว่าสาเหตุยังไม่ทราบแน่ชัดว่าเกิดจากอะไร แต่ก็สามารถตอบได้ว่า จะพบได้บ่อยในเด็กที่นอนหลับในท่าคว่ำหน้า (Prone position) นอนบนเตียงที่มีความอ่อนนุ่ม (Soft surface) แม่อายุน้อย (มักน้อยกว่า 20 ปี) มีประวัติสูบบุหรี่ ดื่มสุรา หรือใช้สารเสพติดขณะตั้งครรภ์ และฝากครรภ์เมื่อท้องแก่ เด็กคลอดก่อนกำหนด น้ำหนักตัวน้อย มีคนใกล้ชิดสูบบุหรี่ การอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ร้อนเกินไป เช่น การห่มหรือใส่เสื้อผ้าที่หนาเกิน ก็เป็นปัจจัยเสี่ยงหนึ่งที่ทำให้เกิดได้ และนอกจากนี้ภาวะนี้มักพบในเด็กเพศชายมากกว่าเด็กหญิงค่ะ

เลี่ยง...ไหลตายได้อย่างไร ?

ในอเมริกามีเด็กเกือบประมาณ 5,000 คน ทุก ๆ ปีจะเสียชีวิตด้วยภาวะดังกล่าว แต่จำนวนการเสียชิวิตในต่างประเทศก็ลดลงอย่างมากเกือบ 50 % ตั้งแต่ปี 1994 เป็นต้นมา เนื่องเพราะคำแนะนำที่ง่ายๆสำหรับพ่อแม่ จากการรณรงค์ของโครงการ Back to Sleep 

โครงการ Back to Sleep เป็นวิธีการแก้ไขที่ง่ายมาก นั่นคือ เพียงปรับหรือจัดท่านอนลูกเสียใหม่ให้เหมาะสมเท่านั้น จากเดิมที่พ่อแม่ส่วนใหญ่จะให้ลูกนอนคว่ำก็เปลี่ยนมาเป็นนอนหงาย หรือใช้หลังนอน ก็เท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นการนอนตอนกลางวันหรือกลางคืน

พ่อแม่หลายคนคงมีคำถามในใจว่าจับลูกนอนหงายแล้วลูกจะไม่สำลัก แหวะนมหรืออาเจียนออกมาหรือ แต่ขอบอกให้คุณแม่สบายใจได้เลยค่ะว่าในเด็กที่มีสุขภาพแข็งแรงดี การนอนหงายไม่ได้เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอาเจียน หรือสำลักมากขึ้นเลย แต่ยกเว้นในเด็กบางกลุ่มค่ะที่มีสุขภาพไม่แข็งแรงหรือมีโรคประจำตัว เช่น เด็กที่เกิดมามีความพิการแต่กำเนิดของใบหน้า คอ มีภาวะหยุดหายใจ มีโรคหัวใจ โรคปอด มีปัญหาการหายใจ หรือมีภาวะกดไหลย้อนขึ้นมาในหลอดอาหาร แล้วทำให้หยุดหายใจ ดังนั้นเด็กที่มีปัญหาเหล่านี้ท่านอนที่เหมาะสมจะแตกต่างกันไปในแต่ละราย คำแนะนำที่เหมาะสม และรายละเอียดอาจจำเป็นต้องสอบถามกุมารแพทย์ ที่ดูแลลูกของคุณแม่เป็นราย ๆ ไปค่ะ

นอนหงายแล้วลูกจะไม่ศีรษะแบนหรือ ?

ปัญหานี้คิดว่าพ่อแม่หลายคนคงกังวลว่าจับลูกนอนหงายแล้วศีรษะลูกจะแบนไม่ทุยสวย ซึ่งก็พบเป็นปัญหาได้ค่ะ แต่ปัญหานี้แก้ไขไม่ยากโดยการจับลูกนอนเปลี่ยนท่าทางบ่อยๆ และเมื่อลูกตื่นเราก็สามารถจับนอนคว่ำหน้าได้ค่ะ เรียกว่า Tummy time และขอสนับสนุนให้ทำด้วย เพราะจะมีผลดีต่อลูก คือ เด็กสามารถออกกำลังกล้ามเนื้อคอไปในตัวเวลานอนคว่ำหน้า และยังช่วยป้องกันศีรษะผิดรูปได้ด้วยค่ะ

นอนตะแคงข้าง (Side Position) แทน ได้ไหม ?

การนอนตะแคงข้าง แม้ว่าจะไม่มีประสิทธิภาพป้องกันภาวะ SIDS เท่ากับท่านอนหงาย แต่ก็ดีกว่าการนอนคว่ำค่ะ ถ้าจะให้ลูกนอนตะแคงข้าง (Side Position) ต้องมั่นใจว่าแขนข้างที่ต่ำกว่าติดพื้นเหยียดกางออกมา เพื่อมั่นใจว่าเด็กจะไม่สามารถพลิกกกลับมาเป็นท่านอนคว่ำได้ แต่ถ้าเป็นไปได้นอนหงายย่อมดีกว่าค่ะ

คำแนะนำอื่นๆเพื่อป้องกันภาวะไหลตาย หรือ SIDS

โรคนี้ส่วนใหญ่จะคุกคามเด็กแบเบาะ ซึ่งเป็นวัยที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ดังนั้นทางที่ดีพ่อแม่ควรปฏิบัติตัวดังนี้นะคะ...

ลูกวัยต่ำกว่า 1 เดือนครึ่งไม่ควรนอนเตียงเดียวกับพ่อแม่ แต่ควรอยู่ใกล้กัน เพราะมีความเสี่ยงสูงที่คุณพ่อคุณแม่อาจเผอเรอไปนอนทับลูกได้ และอุณหภูมิความร้อนจากทั้งตัวพ่อและแม่อาจอบลูกรักให้ร้อนเกินไปด้วยค่ะ
เตียงนอนควรเป็นฟูกแข็งๆ เพราะเตียงนอนอ่อนนุ่มอาจมีร่องบุ๋ม ที่ลูกอาจพลิกไปติดในร่องจนหายใจไม่ออกได้ ขณะเดียวกันที่นอนกับเตียงนอนของลูกควรมีขนาดพอดีกัน ไม่เหลือช่องที่ศีรษะลูกจะเข้าไปติดค้างได้ ผ้าปูที่นอนก็ควรขึงให้ตึงแน่นหนา ไม่ขยับไปมาจนขึ้นมาปิดหน้าเด็กได้
งดดื่ม งดสูบอย่างหนัก เพราะควันบุหรี่ และการดื่มจัดๆ หรือกินยาที่ทำให้นอนหลับแบบไม่ได้สติ ทั้งหมดอาจทำให้เราเผลอไผลกลิ้งไปนอนทับลูกโดยไม่รู้สึกตัวได้

อุณหภูมิห้องนอนต้องเย็นสบาย โดยที่ใส่เสื้อนอนธรรมดาก็สามารถหลับได้สบาย ไม่หนาวเกินไป ไม่แนะนำให้ห่มผ้าหนาๆของผู้ใหญ่ให้ลูก
ไม่ควรใช้หมอนหรือผ้าห่ม บนเตียงลูกวัยต่ำกว่า 1 ขวบ เพราะหมอนนุ่มๆ หรือผ้าห่มอันอ่อนยวบอาจเป็นภัยร้ายคร่าชีวิตลูกเราได้ ในกรณีที่ลูกนอนพลิกไปติดอยู่ในก้อนผ้าห่มหรือหมอนนุ่มๆ ใบใหญ่
เลี่ยงตุ๊กตาตัวใหญ่ๆ ที่มีลักษณะอ่อนยวบ เพราะลูกอาจไปติดอยู่ในร่องบุ๋มของตุ๊กตาอันอ่อนนุ่มได้ค่ะ
ฉีดวัคซีนให้ลูกตามกำหนด เพื่อสร้างภูมิให้ลูกแข็งแรง
ควรหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ของแม่ระหว่างการตั้งครรภ์หรือหลังคลอด รวมทั้งการสัมผัสกับควันบุหรี่จากบุคคลอื่นในบ้านด้วย
ลูกควรกินนมแม่ (Breast feeding) เพราะนมแม่ช่วยลดอุบัติการณ์การติดเชื้อ ซึ่งอาจเป็นสาเหตุให้เกิด SIDS
การใช้หัวนมหลอก (Pacifier) มีข้อมูลว่าการใช้หัวนมหลอกในเด็กอายุน้อยกว่า 1 ปี ทั้งเวลานอนกลางวันหรือกลางคืนช่วยลดโอกาสเด็กเสียชีวิตจาก SIDS ได้ค่ะ ในรายที่เด็กทารกกินนมแม่อาจใช้หัวนมหลอกเมื่อเด็กมีอายุมากกว่า 1 เดือนไปแล้ว ภายหลังจากที่เด็กคุ้นเคยกับนมแม่แล้ว
หลีกเลี่ยงการพาลูกไปบริเวณที่มีคนหนาแน่น ล้างมือก่อนเล่นกับลูกน้อย เพราะ SIDS มีความสัมพันธ์กับการติดเชื้อทางเดินหายใจ และทางเดินอาหารได้
ถ้าลูกมีอาการหายใจผิดปกติ ติดขัด หยุดหายใจเป็นช่วงๆ ควรปรึกษากุมารแพทย์ทันที

จะว่าไปแล้ว โรคไหลตายเป็นโรคที่อยู่ใกล้แค่เอื้อม แต่ถ้ารู้วิธีหลีกเลี่ยงเสียอย่าง... ภัยร้ายนี้ก็ไม่สามารถมากร้ำกรายลูกน้อยของเราได้ค่ะ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น