วันจันทร์ที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2556

วิจัยน้ำมะพร้าวอ่อน ช่วยชะลออัลไซเมอร์

อาจารย์ มอ. วิจัยพบน้ำมะพร้าวอ่อน ช่วยชะลอโรคอัลไซเมอร์ในผู้หญิงวัยทองได้ แนะบริโภคสัปดาห์ละ 3 วัน ทดแทนฮอร์โมนสังเคราะห์ที่มีผลข้างเคียง จะช่วยลดความเสี่ยงเป็นโรคได้ 

หลังจากกำหนดนโยบายเป็นมหาวิทยาลัยเน้นวิจัย (Research-Oriented University) อาจารย์นักวิจัยของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่า มอ. ก็ผลิตผลงานการวิจัยออกมาอย่างมากมาย


และหนึ่งในงานวิจัยที่น่าสนใจ คือ "น้ำมะพร้าวชะลอโรคอัลไซเมอร์ในกลุ่มผู้หญิง" ผลงานของ ดร.นิซาอูดะห์ ระเด่นอาหมัด อาจารย์จากคณะวิทยาศาสตร์ มอ.

ดร.นิซาอูดะห์ บอกถึงที่มาของานวิจัยชิ้นนี้ว่า เกิดจากในแต่ละปีมีผู้หญิงที่เข้าสู่วัยทองจำนวนมาก บุคคลเหล่านี้จำเป็นต้องได้รับฮอร์โมนทดแทน แต่หากได้รับเกิน 5 ปี ก็มีผลข้างเคียงอื่นๆตามมา เช่นมะเร็งต่างๆ นอกจากนี้ในสตรีวัยทองที่ได้รับฮอร์โมนลดลง ก็พบอัตราเสี่ยงต่อการเกิดโรคอัลไซเมอร์ จึงได้มีแนวความคิดที่จะหาสารหรือพืชทดแทนจากธรรมชาติมาทดแทนการใช้ฮอร์โมนสังเคราะห์

ที่ผ่านได้มีนักวิจัยได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับฮอร์โมนทดแทน พบว่าในผลิตภัณฑ์ถั่วเหลือง และผลิตภัณฑ์จากกวาวเครือขาวเป็นพืชมีฮอร์โมนเอสโตรเจนสูง อย่างไรก็ตามจากการวิจัยก็พบว่า นอกจากพืชทั้งสองตัวแล้ว ในน้ำมะพร้าวอ่อนก็มีฮอร์โมนเอสโตเจนสูงเช่นกัน และมีส่วนช่วยลดพยาธิสภาพของโรคอัลไซเมอร์ด้วย

จากการทดลองโดยใช้หนูขาวเพศเมียที่ถูกตัดรังไข่ออกทั้งสองข้างเป็นแบบจำลองสตรีวัยทอง และให้ได้รับน้ำมะพร้าวเป็นเวลา 5 สัปดาห์ ผลออกมาพบว่าหนูมีพยาธิสภาพของโรคอัลไซเมอร์น้อยกว่าหนูกลุ่มที่ไม่ได้รับน้ำมะพร้าว

ดร.นิซาอูดะห์ บอกอีกว่าในสตรีวัยทองหากบริโภคมะพร้าวอ่อนสัปดาห์ละ 3 ครั้งๆละ 1 ลูก จะช่วยลดความเสี่ยงที่จะเป็นโรคอัลไซเมอร์ได้

สำหรับอีก 2 โครงการผลงานนักวิจัยมอ.ที่น่าสนใจก็คือ โครงการบะหมี่สำเร็จรูปเพื่อใช้ในการลดน้ำหนัก (Pectin Instant Noodles) และ กาแฟผสมดอกหญ้าช่วยเลิกบุหรี่ ผลงานวิจัยของ ผศ.ดร.สมฤทัย จิตภักดีบดินทร์ อาจารย์จากภาควิชาเทคโนโลยีเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มอ.

ผศ.ดร.สมฤทัย บอกว่า เนื่องจากในพื้นที่ภาคใต้มีการใช้มะนาวประกอบอาหารกันมาก จึงคิดที่จะนำเปลือกมะนาวเหลือทิ้งมาใช้ประโยชน์ จากข้อมูลพบว่าเปลือกมะนาวมีสารเปคติน ซึ่งเป็นโพลีแซคคาไรด์ ที่มีประโยชน์ในการช่วยระบายและดูดซับไขมัน ลดคลอเลสเตอรอลได้ จึงได้นำเปลือกมะนาวมาสกัดสารเปคติน และนำมาผสมกับมะหมี่ด้วยสูตรที่คิดขึ้นให้เหมาะกับผู้ที่ต้องการลดน้ำหนัก ใช้เวลาในการวิจัยเกือบ 2 ปี จนสำเร็จออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ มี 2 รสชาติ คือ รสต้มขมิ้นเจ และรสแกงส้มเจ ขณะนี้เริ่มนำงานวิจัยชิ้นนี้มาผลิตเชิงพาณิชย์แล้ว

สำหรับผลงานวิจัยกาแฟช่วยเลิกบุหรี่นั้น เป็นงานวิจัยที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากจังหวัดกะบี่ โดยนำเอาดอกหญ้าขาวที่เป็นพืชที่มีอยู่ทั่วประเทศ และมีคุณสมบัติลดอาการอยากบุหรี่ มาเป็นส่วนผสมเพื่อนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์กาแฟถุง ใช้กับผู้ที่ต้องการลดและเลิกการสูบบุหรี่

โดยในการทดสอบประสิทธิภาพได้นำอาสาสมัครที่ติดบุหรี่จำนวน 20 คน ดื่มผลิตภัณฑ์กาแฟที่ได้วิจัยขึ้นมาติดต่อกันเป็นเวลา 1 เดือน ผลปรากฏว่า อาสาสมัคร 2 คนสามารถเลิกบุหรี่ได้ในเวลา 1 เดือน และอีก 18 คน สามารถลดการสูบบุหรี่ลงเหลือเพียง 4 มวนต่อวัน จากเดิมที่สูบวันละ 1-2 ซอง อย่างไรก็ตามในขณะนี้กำลังพัฒนาให้กาแฟมีรสชาติที่ดีขึ้น รวมถึงพัฒนาทำเป็นกาแฟสำเร็จรูป 3 in 1 เพื่อสะดวกในการบริโภค สำหรับการผลิตเพื่อเชิงพาณิชย์ ขณะนี้อยู่ในช่วงขออนุญาตจากทาง อย. อยู่

นอกจากผลงานวิจัยดังกล่าวมาแล้ว ทาง มอ. ยังมีงานวิจัยใจที่น่าสนใจอีกมากมาย อาทิ น้ำสมุนไพรเพื่อสุขภาพช่วยลดความดัน ครีมทาหน้าขาวจากยางพารา หรืองานวิจัยเกี่ยวกับพลังงานทดแทนเช่น โรงงานต้นแบบการผลิตไบโอดีเซล

อย่างไรก็ตามตลอด 40 ปีที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ถือเป็นสถาบันการศึกษาที่ได้เผยแพร่ความรู้ทางด้านวิชาการอย่างต่อเนื่อง มีการผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพ และพร้อมที่ก้าวเข้าสู่ความเป็นมหาวิทยาลัยแห่งการวิจัยอย่างเต็มที่

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น