วันจันทร์ที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2556

เตือนผักดองมีวัตถุกันเสียเกินมาตรฐานเพียบ เจอมากใน หัวไชโป้-กาน่าไฉ่

กรมวิทย์เผยผลตรวจผักก่อนกินเจ พบ ผักสดปนเปื้อนยาฆ่าแมลง 83% ส่วนผักดองไม่พบสารกันราและสารบอแรกซ์ แต่เจอวัตถุกันเสียเกินค่ามาตรฐาน 73% พบมากในหัวไชโป้ กาน่าไฉ่ ส่วนอาหารเจทั่วไปไม่พบสารบอแรกซ์
นพ.อภิชัย มงคล อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า เทศกาลกินเจส่วนใหญ่จะเน้นผักสด ผักแห้ง และผักดอง ซึ่งอาจมีสารอันตรายตกค้างโดยเฉพาะสารบอแรกซ์หรือผงกรอบในผักดอง โดยปีนี้ กรมวิทย์ทำการเก็บตัวอย่างผักสดเพื่อตรวจสอบยาฆ่าแมลง 4 กลุ่ม คือ กลุ่มออร์กาโนคลอรีน ไพรีทรอยด์ ออร์กาโนฟอสเฟต และคาร์บาเมต ได้แก่ คะน้า หัวไชเท้า แครอท กวางตุ้ง จำนวน 6 ตัวอย่าง อาหารหมักดองเพื่อตรวจสอบสารกันรา สารบอแรกซ์และวัตถุกันเสีย ได้แก่ ผักกาดดอง กาน่าไฉ่ หัวไชโป้ว จำนวน 30 ตัวอย่าง และอาหารเจทั่วไปเพื่อตรวจสอบสารบอร์แรกซ์ ได้แก่ เส้นหมี่ซั่ว หมี่กึ่ง หมูเจ กุ้งเจ ปลาหมึกเจ ลูกชิ้นเจ จำนวน 10 ตัวอย่าง

นพ.อภิชัย กล่าวอีกว่า ผลการตรวจสอบ พบว่า ผักสด 6 ตัวอย่าง มียาฆ่าแมลง จำนวน 5 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 83.33 โดยพบในหัวไชเท้า และผักกวางตุ้ง อาหารหมักดอง จำนวน 30 ตัวอย่าง ไม่พบกรดซาลิซิลิค (สารกันรา) และสารบอแรกซ์ (ผงกรอบ) ทุกตัวอย่าง แต่ตรวจวัตถุกันเสีย (กรดเบนโซอิค) เกินมาตรฐานที่กำหนด จำนวน 22 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 73 ปริมาณที่พบอยู่ระหว่าง 1,034-5,995 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 281 (พ.ศ.2547) กำหนดให้มีได้ไม่เกิน 1,000 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมโดยพบในผักกาดดอง และหัวไชโป้วมากที่สุด รองลงมาคือ กาน่าไฉ่ ส่วนอาหารเจทั่วไป จำนวน 10 ตัวอย่าง ไม่พบสารบอแรกซ์ (ผงกรอบ) ทุกตัวอย่าง

“ผู้บริโภคสามารถหลีกเลี่ยงหรือป้องกันสารอันตรายได้ โดยการเลือกกินผัก ผลไม้ตามฤดูกาล หรือผักพื้นบ้าน เลือกผักที่มีรูพรุนจากการเจาะของแมลงบ้าง กินผักใบมากกว่าผักหัว เพราะผักหัวจะสะสมสารพิษไว้มากกว่า ดังนั้น ควรนำมาล้างน้ำ ทำความสะอาดและปอกเปลือก (ในชนิดที่ทำได้) ก่อนนำมาปรุงอาหาร และเลือกซื้อจากแหล่งที่เชื่อถือได้ เช่น ผักอนามัย ผักกางมุ้ง เป็นต้น สารกันรา เลือกกินอาหารที่สดใหม่ ไม่กินอาหารหมักดอง หรือเลือกซื้อ จากแหล่งผลิตที่เชื่อถือได้ ซึ่งได้รับการรับรองคุณภาพหรือมีเครื่องหมาย อย.ส่วนสารบอแรกซ์ หรือผงกรอบ ผู้บริโภคไม่ควรกินอาหารที่มีลักษณะกรอบเด้งหรืออยู่ได้นานผิดปกติ” อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าว

นางลัดดาวัลย์ โรจนพรรณทิพย์ ผู้อำนวยการสำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร กรมวิทย์ กล่าวว่า ยาฆ่าแมลงหรือสารเคมีสำหรับกำจัดแมลงซึ่งเกษตรกรบางคนใช้ในปริมาณมากเกินไป จนทำให้อาจตกค้างมากับผัก หรือผลไม้สด อันตรายจากยาฆ่าแมลง เมื่อเรากินเข้าไปมากๆ ในครั้งเดียว จะเกิดพิษแบบเฉียบพลัน เช่น ทำให้กล้ามเนื้อสั่น กระสับกระส่าย ชักกระตุก และหมดสติ หายใจขัด และอาจหยุดหายใจได้ แต่พิษที่พบมากที่สุดคือ คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเดิน เกิดสะสมในร่างกาย ทำให้เกิดโรคมะเร็งได้ สารกันราหรือสารกันบูด เป็นกรดที่มีอันตรายต่อร่างกายมาก ซึ่งผู้ผลิตอาหารบางรายนำมาใส่เป็นสารกันเสียในอาหารแห้ง เพื่อป้องกันเชื้อราขึ้น

นางลัดดาวัลย์ กล่าวด้วยว่า อาหารที่มักพบว่ามีสารกันรา ได้แก่ น้ำผักดอง น้ำดองผลไม้ เป็นต้น พิษของสารกันรา เมื่อกินเข้าไปจะทำลายเซลล์ในร่างกายให้ตาย หากกินเข้าไปมากๆ จะทำลายเยื่อบุกระเพาะอาหารและลำไส้ ทำให้เป็นแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้ได้ ความดันโลหิตต่ำ จนช็อกได้ หรือในบางรายที่กินเข้าไปไม่มากแต่แพ้ จะทำให้เป็นผื่นคันขึ้นตามตัว อาเจียน หูอื้อ มีไข้ และสารบอแรกซ์หรือผงกรอบ มีลักษณะเป็นผงสีขาวมีชื่ออื่นๆ อีก เช่น น้ำประสานทอง สารข้าวตอก ผงกันบูด เพ่งแซ ผงเนื้อนิ่ม สารบอแรกซ์ เป็นสารที่ใช้ในอุตสาหกรรม เช่น ทำแก้ว เพื่อทำให้ทนความร้อน เป็นสารประสานในการเชื่อมทอง เป็นสารหยุดยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อราในแป้งทาตัว เป็นต้น แต่แม่ค้ามักนำมาผสมในอาหาร เพื่อให้อาหารมีความหยุ่นกรอบ คงตัวได้นาน ไม่บูดเสียง่าย พิษของสารบอแรกซ์ เกิดได้สองกรณี คือ แบบเฉียบพลัน จะมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน อุจจาระร่วง อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ หงุดหงิด ผิวหนังอักเสบ ผมร่วง และแบบเรื้อรัง จะมีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ผิวหนังแห้ง หน้าตาบวม เยื่อตาอักเสบ ตับไตอักเสบ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น