วันศุกร์ที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2556

เชื่อหรือไม่่...??? ส่วนเล็กๆของขาปูทำให้คนเสียชีวิตมาแล้ว!!!!

จากการที่มีการเสนอข่าวว่ามีผู้ป่วยชาวมาเลเซียป่วยและเสียชีวิตจากแผลติดเชื้อ โดยเริ่มแรกผู้ป่วยถูกส่วนขาปูทะเลแทงที่ปลายนิ้วเป็นแผลเล็กๆ ต่อมามีอาการป่วยหนัก แผลลุกลามไปที่แขน มีอาการทางระบบหายใจ ต้องส่งโรงพยาบาล แพทย์ทำการตัดแขนข้างที่ติดเชื้อ และต่อมาเสียชีวิต ฟังดูแล้วหลายๆท่านคงมีความกลัวว่าจะเกิดขึ้นแก่ท่านหรือคนใกล้ตัวได้ เราได้สืบค้นข้อมูลทางวิทยาศาสตร์พบว่า การติดเชื้อจากสัตว์ทะเลคล้ายๆกันนี้ เกิดจาก การติดเชื้อ Vibrio vulfinicus และมีการรายงานพบผู้ป่วย ในประเทศสหรัฐอเมริกา ในปี พ.ศ.2528 นอกจากนี้ยังมีรายงานในประเทศเบลเยี่ยม ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา และ ไต้หวัน
เราจึงควรศึกษาหาความรู้ เพื่อการป้องกันที่ดี...... มาทำความรู้จักเชื้อโรคนี้กันเถอะ


ลักษณะของเชื้อ Vibrio vulfinicus
เป็นเชื้อแบคทีเรีย ชนิดแกรมลบ มีรูปร่างเป็นแท่งโค้ง (curved rod) แหล่งที่อยู่ตามธรรมชาติคือ น้ำทะเล จัดอยู่ในพวก Halophilic bacteria คือชอบเกลือ เจริญเติบโตในอาหารเลี้ยงเชื้อที่ผสม NaCl 0.5 % ลักษณะทางเคมีได้แก่ oxidase-positive, fermented glucose and lactose เป็นเชื้อแบคทีเรียที่จัดเป็น Normal flora ของสัตว์ทะเล แต่สามารถก่อโรครุนแรงในมนุษย์ได้


การก่อโรคในมนุษย์
เกิดจากเชื้อที่อยู่ในน้ำทะเลเข้าไปในบาดแผล หรือเชื้อเข้าไปทางบาดแผลที่เกิดจากเปลือกหอยเปลือกปูทิ่มแทง นอกจากนี้การกินอาหารทะเล เช่น หอย กุ้ง ปู ที่ไม่ปรุงสุกและมีเชื้อนี้ปนเปื้อนอยู่ ก็อาจติดเชื้อ และป่วยได้ ความสำคัญของโรคนี้อยู่ที่ระยะฟักตัวสั้นมากประมาณ 16 ชั้วโมงหลังได้รับเชื้อ เชื้อนี้สามารถแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็วทางผิวหนังและเนื่อเยื่ออ่อนๆ ( soft tissue) ซึ่งจะทำให้เกิดสภาพโลหิตเป็นพิษ (septicemia) ดังนั้นการติดเชื้อจะแสดงอาการป่วยและตายได้ อัตราการตายอาจสูงถึง 67-100 % เนื่องจากเกิดภาวะ septic shock 


กลุ่มเสี่ยง
เพศชาย อายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป ที่ดื่มเหล้าจัด จนมีภาวะของโรคตับ ( Hepatitis B, C) พบว่ามีความเสี่ยงสูงที่สุด (95%)


อาการในผู้ป่วย
อาการป่วย พบมีไข้ (92-94%) หนาวสั่น (82-91%) ความดันโลหิตต่ำ (25-33%) คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องเสีย นอกจากนี้พบจ้ำเลือด (erythematous) จ้ำสีม่วง (purpuric skin) ตามลำตัวและปลายแขนขา(67-75%) ต่อมามักกลายเป็นถุงน้ำ (vesicles) และเนื้อตายแบบแผลหลุม (necrotic ulcers) นอกจากนี้พบการอักเสบของเนื้อเยื่อพังผืดใต้ผิวหนัง (fasciitis ) จากสภาวะโดยรวมดังกล่าวอาจทำให้รุนแรงถึงขั้นตัดแขนหรือขาได้


การรักษา
โรคนี้มีการก่อโรคที่รวดเร็วมาก ซึ่งอาจทำให้ตายได้ ดังนั้นหากมีอาการดังกล่าว ร่วมกับมีประวัติการถูเปลือกหอยหรือเปลือกปูทิ่มแทง หรือกินอาหารทะเลที่ไม่สุก ควรรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดทันที
ยาปฏิชีวนะที่ให้ผลในการรักษาได้แก่ Ampicillin, Mezlocillin, Piperacillin, Ticarcillin, Cephalothin, Cefoxitin, Cefotaxime, Moxalactam, และ Gentamycin (ยาที่ให้ผลไม่ดีในการรักษา ได้แก่ Amikacin และ Tobramycin)


โรคนี้น่ากลัวหรือไม่เมื่ออ่านถึงตรงนี้คงปฏิเสธความน่ากลัวไม่ได้ เพราะมีโอกาสรับเชื้อได้หากรับประทานสัตว์ทะเลดิบๆ หรือเชื้อเข้าทางบาดแผลโดยไม่ตั้งใจหรือโดยอุบัติเหตุ นอกจากนี้ยังอาจเสียชีวิต หรือสูญเสียแขนขาได้ อย่างไรก็ตาม อุบัติการณ์ของโรคพบได้ไม่บ่อยนัก การฝึกนิสัยให้รับประทานอาหารที่ดีถูกสุขลักษณะ การรักษาสุขอนามัยเมื่อร่างกายมีบาดแผล และความระมัดระวังในการจับสัตว์ทะเล หากถูกทิ่มแทงควรทำความสะอาดและล้างแผลตามวิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้น และไปพบแพทย์ เป็นวิธีที่ดีในการป้องกันการติดเชื้อได้ทางหนึ่ง…..หายกลัวแล้วหรือยัง ?

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น